นครพนม- เอลนีโญพ่นพิษ เกษตรจับมือชลประทานต้านภัยแล้ง หวั่นผลผลิตเกษตรกรเสียหาย แนะปลูกพืชน้ำน้อย คาดแล้งยาวถึงกลางปี 67 

นครพนม- เอลนีโญพ่นพิษ เกษตรจับมือชลประทานต้านภัยแล้ง หวั่นผลผลิตเกษตรกรเสียหาย แนะปลูกพืชน้ำน้อย คาดแล้งยาวถึงกลางปี 67

เอลนีโญเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญเนื่องจากปรากฏการณ์นี้จะเป็นตัวกำหนดสภาพอากาศต่าง ๆ บนพื้นโลก ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และขณะนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญก็ได้กลับมาอีกตามวงรอบ และอาจเป็นครั้งที่หนักสุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ภูมิภาคจีนตอนล่าง จนไปถึงออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีภาวะของฝนน้อย แทนที่จะเกิดฝนตกตามฤดูกาล และต้องเผชิญในเรื่องของความแห้งแล้ง อาจทำให้อุณหภูมิของโลกสูงเพิ่มมากขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส และในทางกลับกัน ทางฝั่งอเมริกาใต้ที่มีความแห้งแล้งนั้น ก็จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นแทน หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ลานีญา โดยในห้วงที่เวลาเดียวกันนี้ จะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ

ในส่วนของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ คือเกิดภัยแล้งรุนแรง และ เมื่อเกิดความแห้งแล้งผิดปกติ อาจทำให้เกิดไฟป่า ที่จะไปทำลายระบบนิเวศ แมลงจะระบาดมาก เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวมีมากขึ้น ก็จะทำให้พื้นที่ทำนาเสียหาย ดังนั้นหากเป็นไปตามการคาดการณ์จริง เกษตรกรต้องเตรียมรับมือให้พร้อม โดยในช่วงปลายปี 2566 ไปถึงกลางปี 2567 ฝนอาจจะน้อยลง ส่วนเรื่องของอุณหภูมิก็จะสูงกว่าค่าปกติ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหายได้

โดยจากการสังเกตค่าเฉลี่ยฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน พบว่ามีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ โดยมีปริมาณน้ำฝนเพียงแค่ร้อยละ 46 ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนในปีที่แล้ว (2565) คาดการณ์ว่าหากฝนยังคงตกในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ปริมาณน้ำสำหรับฤดูแล้งในปี 2566-2567 อาจจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังภาครัฐ ในการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร

ในส่วนของพื้นที่ จ.นครพนม โครงการชลประทานนครพนม ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ จำนวน 20 แห่ง และประตูระบายน้ำอีก 12 แห่ง ได้เปิดเผยข้อมูลปริมาณเก็บกักน้ำรวมหมดทุกอ่าง มีประมาณ 87 % ถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง โดยในห้วงฤดูฝนที่ผ่านมา จึงระบายน้ำด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างมากกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอ จนกว่าสถานการณ์เอลนีโญจะผ่านพ้นไป ในส่วนเกษตรกรที่พึ่งพาน้ำจากระบบชลประทาน และปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำมาก เช่น ปลูกข้าวนาปรัง เป็นต้น ปีนี้อาจจำเป็นต้องงดปลูกชั่วคราว และควรได้รับการแนะนำจากเกษตรจังหวัดนครพนม ว่าควรปลูกพืชชนิดไหน ที่ใช้น้ำน้อยทดแทนไปพลางก่อน

ล่าสุด นายวีรพงศ์ วรรณลา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ได้รับแจ้งจากกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงกรมส่งเสริมการเกษตร จะเกิดภาวะเอลนีโญคือแล้งยาวนานกว่าปกติ ล่วงไปถึงฤดูฝนปีหน้า ทางผู้บริหารจึงให้เตือนพี่น้องเกษตรกร ในการทำเกษตรที่ใช้น้ำมาก ให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน ส่วนพื้นที่นาปรังที่เคยทำกัน บางที่ที่เสี่ยงน้ำไม่เพียงพอในแต่ละปีควรจะหลีกเลี่ยง เพราะว่าถ้ามีการขาดน้ำในช่วงที่จะออกดอกหรือข้าวตั้งท้อง ผลผลิตอาจจะเสียหาย เพราะภาวะนี้เป็นไปทั่วโลก จึงต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ

ในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทาน ต้องวางแผนกับชลประทานว่า จะมีการจัดสรรการให้น้ำ เหมาะสมกับพืชและพื้นที่ของท่าน ต้องวางแผนร่วมกันว่า จะปลูกพืชชนิดใดเท่าไหร่ ซึ่งทางชลประทานก็จะมีการวางแผนร่วมกับท่านอยู่แล้ว และควรระมัดระวังในการที่ปลูกพืชที่เกินปริมาณจัดสรรให้

ทั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม และ สำนักงานเกษตรอำเภอฯ ในฐานะผู้ดูแลพี่น้องเกษตรกร ก็จะติดตามข่าว ข้อมูล ถ้าปรากฏการณ์เอลนีโญผ่านไป ก็จะมาส่งเสริมวางแผนการปลูกพืชใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม (061-2838566)

Related posts