เกษตรกรสุราษฎร์ฯ รวมกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม พัฒนาคุณภาพ ตั้งเป้าสู่การผลิตเห็ดอินทรีย์ แปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลื้ม!! จากวิสาหกิจชุมชนก้าวสู่แปลงใหญ่

เกษตรกรสุราษฎร์ฯ รวมกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม พัฒนาคุณภาพ ตั้งเป้าสู่การผลิตเห็ดอินทรีย์
แปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลื้ม!! จากวิสาหกิจชุมชนก้าวสู่แปลงใหญ่


เรียนรู้จากต้นแบบ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนรายได้เสริมเป็นรายได้หลักอย่างมั่นคง
นายอเนก แสงเอม ประธานแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลคลองพา
ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพหลัก ในพื้นที่จึงมีทะลายปาล์ม หรือซังปาล์มเป็นวัสดุเศษเหลือจากโรงงาน เมื่อปี 2561
ตนและเกษตรกรในชุมชนจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเห็ดฟางโดยใช้ทะลายปาล์ม แรกเริ่มเพาะแบบกองเตี้ยก่อน พบปัญหา
ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2562 ได้รวบรวมสมาชิกจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเห็ดฟางบ้านขวัญพัฒนาขึ้น
โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอท่าชนะ เดิมมีสมาชิก 20 กว่าคน ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน ในปี 2563 กลุ่มได้ไปศึกษาดูงานแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแปลงใหญ่เห็ดฟางแห่งแรกของภาคใต้ เพาะแบบโรงเรือนโดยใช้ทะลายปาล์ม กลุ่มจึงได้วิธีการสร้างโรงเรือนและความรู้ด้านการผลิตมาปรับเปลี่ยนเป็นการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน โดยช่วงแรกได้ทดลอง 3-4 คน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปทำแบบโรงเรือนแล้วทุกราย ปี 2564 ได้ขอจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่กับกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันมีโรงเรือนจำนวน 80 หลัง และกำลังขยายเพิ่มให้ได้ครอบครัวละ 4-5 หลัง จะได้
มีผลผลิตต่อเนื่องและแรงงานในครัวเรือนดูแลได้ทั่วถึง สำหรับการเพาะเห็ดฟางของกลุ่ม จะสร้างโรงเรือนขนาด 4X7 เมตร ใช้ผ้ายางคลุม และติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย 1 โรง จะมีชั้นวาง 2 แถวๆ ละ 4 ชั้น ขนาดชั้นวาง 1×6 เมตร รวมพื้นที่วางวัสดุเพาะ
48 ตารางเมตร การเพาะเห็ดแต่ละครั้งใช้ทะลายปาล์มประมาณ 13 ตัน ซื้อในพื้นที่ครั้งละ 9,000 บาท ก่อนเพาะต้องนำทะลายปาล์มมาหมักเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจัดเรียงบนชั้นแต่ละชั้นวางสูงประมาณ 15 เซนติเมตร และทำการอบไอน้ำจากหม้อต้มน้ำโดยใช้ฟืนให้ได้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อ และหนอน เป็นเวลา 6-7 ชม. แล้วทิ้งให้เย็น 1 วัน จากนั้นทำการโรยเชื้อเห็ดฟาง แล้วฉีดน้ำเป็นฝอยให้เชื้อเห็ดพอชุ่มปิดประตูทิ้งไว้ 3 คืน เส้นใยเห็ดฟางฟูขึ้นเจริญแผ่กระจายโดยรอบก็ทำการฉีดน้ำเพื่อตัดใย จากนั้นประมาณ 5 วันจะเริ่มเก็บดอกได้ และมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน 1 รอบใช้เวลา 40-50 วัน จากนั้นทำการรื้อซังปาล์มออก 2 วันและพักโรงเรือน 2 วัน จึงจะลงรอบใหม่ เมื่อเข้าสู่แปลงใหญ่ สมาชิกได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีการควบคุมคุณภาพสม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาคุณภาพดี ดอกใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ได้ขอรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว และมีแผนดำเนินการขอรับรองให้ได้ครบทุกแปลงในปี 2564 ปัจจุบันเก็บผลผลิตรวมกันได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-80 บาท ทุกวันพ่อค้าจะเข้ามารับที่จุดรวบรวมในประมาณ 11.00 น. และรีบขนส่งไปยังตลาดหลักในกรุงเทพมหานคร ต้นทุนโรงเรือนประมาณ 40,000 บาทต่อหลัง ซึ่ง 1-2 รอบการผลิตก็สามารถคืนทุนได้ ข้อดีของการเพาะเห็ดแบบนี้คือไม่ได้ใช้สารเคมีในการฆ่าเชื้อวัสดุเพาะแต่ใช้การอบไอน้ำแทน จัดการง่ายเพราะอยู่ใกล้ที่พัก ไม่ต้องย้ายที่บ่อยๆ ควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ดีกว่า ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับผลผลิตที่คุณภาพตกเกรด ดอกเล็กหรือดอกบาน ก็นำมาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์เห็ด ได้แก่ แหนมเห็ด เห็ดดองปรุงรส และข้าวเกรียบเห็ด ซึ่งกลุ่มมีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มมูลค่าและสร้างโรงเรือนแปรรูป รวมถึงการขอมาตรฐาน อย.ในระยะต่อไป
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้
แปลงใหญ่เห็ดฟางทั่วประเทศมีทั้งหมด 10 แปลง ในส่วนภาคใต้แปลงใหญ่ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพรเป็นแปลงแรก และแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ เป็นแปลงที่ 2 ซึ่งได้ไปเรียนรู้จากแปลงต้นแบบมาจากชุมพร
นำนวัตกรรมการก่อสร้างโรงเรือน และกระบวนการผลิตมาพัฒนาแปลง ตามแนวทางแปลงใหญ่ใน 5 ด้าน คือ 1) การลดต้นทุน โดยเลือกและใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การใช้วัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดที่หมดอายุแล้วทำปุ๋ย 2) การเพิ่มผลผลิต โดยการควบคุมสภาวะการให้น้ำ การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช 3) การพัฒนาคุณภาพ ดำเนินการผลิตตามมาตรฐาน GAP และตั้งเป้าหมายการผลิตเห็ดอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มใช้การอบวัสดุเพาะและฆ่าเชื้อในโรงเห็ดแทนการใช้ยาฆ่าหนอนและใช้น้ำหมัก 4) ด้านการตลาดและเชื่อมโยงการตลาด มีการจัดทำแผนธุรกิจ การรวบรวมผลผลิตและเชื่อมโยงเครือข่ายพ่อค้าจากนอกพื้นที่ และประเด็นสุดท้ายคือ 5) การบริหารจัดการ ดำเนินการรูปแบบวิสาหกิจชุมชน มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานเกษตรอำเภอท่าชนะเป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ
ในการให้ความรู้ พัฒนากลุ่ม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณให้ใน 3 ปีแรก
ตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแปลงใหญ่ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตัวเอง
ในการสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนเป็นอย่างดี

Related posts