คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขอนแก่น ยื่น 10 ข้อเสนอวันกรรมกรสากลถึง “บิ๊กตู่” ขอสิทธิเท่าเทียมด้านการบริการสาธารณสุขให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 เม.ย. 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายธีรพงศ์ ประเสริฐ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจ สาขาขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือต่อนายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น เนื่องในวันกรรมกรสากล ประจำปี 2564
นายธีรพงศ์ ประเสริฐ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจ สาขาขอนแก่น กล่าวว่า เป็นประจำทุกปีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จะกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ทำให้ในปีนี้ต้องงดจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ทางคณะกรรมการยังคงกิจกรรมการยื่นข้อเรียกร้อง ให้กับผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานอิสระ พบว่าต้องเผชิญกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ไม่มีความมั่นคง ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“คนงาน ผู้ใช้แรงงานต้องเผชิญกับปัญหาเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภายใต้การแข่งขันของธุรกิจและผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ ส่งผลให้คนงาน ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่กลับพบว่าสิทธิประโยชน์ของแรงงานไม่สอดคล้องกับการระบาดของโควิด ซึ่งปีนี้ได้ยื่นข้อเสนอเร่งด่วน 10 ข้อให้ทางรัฐบาลได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดย 10 ข้อเสนอเร่งด่วนที่ยืนให้รัฐบาลออกมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและคนทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 คือ ประกอบด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงานในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย
,การกำหนดมาตรการดูแลที่ดีพอบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พนักงานที่ให้บริการแก่ประชาชนในการบริการสาธารณะ
ทั้งเรื่องวัคซีน เครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจ การป้องกัน ให้เพียงพอ,การให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการการตรวจโรคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม,รัฐบาลต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพราะจะเกิดประโยชน์
กับทุกคน ทุกครอบครัว และการสนับสนุนนี้ต้องเป็นงบประมาณจากรัฐมิใช่ผลักภาระให้หน่วยงานบริการ”
นายธีรพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของการเยียวยา ช่วยเหลือ หากมีความจำเป็น ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติครอบคลุมคนยากจน คนรายได้น้อย และดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมในฐานะมนุษย์ที่มีความทุกข์ยากเหมือนกัน, ยกเลิก หรือ ลด การเก็บค่าบำรุงการศึกษา (ค่าเทอม) เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์,รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความทุกข์ยากของประชาชน,รัฐต้องควบคุมการจัดการเรื่องโควิด -19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับขั้นตอน, รัฐต้องหาแนวทาง สร้างมาตรการให้หน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือใช้สถานการณ์โควิดเลิกจ้างคนงานเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤตเพิ่มมากขึ้น และเมื่อรัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด- 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทํางานที่เจ็บป่วย และในอนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนให้กับคนงานที่อาจจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต