มทภ.4 ประชุม ติดตาม การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นชุมชน ประชาชน มีส่วนร่วม ป้องกัน สกัดกั้น สิ่งเสพติด สร้าง พื้นที่สีขาวนำสันติสุขสู่ จชต.

มทภ.4 ประชุม ติดตาม การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นชุมชน ประชาชน มีส่วนร่วม ป้องกัน สกัดกั้น สิ่งเสพติด สร้าง พื้นที่สีขาวนำสันติสุขสู่ จชต.

 

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ปส.จชต.) เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหายาเสพติด ติดตาม และรับทราบผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีผู้แทนสำนักอำนวยการ, หัวหน้าส่วนราชการหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี รายงานสถานการณ์ภาพรวมและการปฏิบัติภารกิจงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โอกาสนี้ พลโท ศานติ ศกุนตนาค ได้กล่าวขอบคุณกำลังพล คณะกรรมการทุกส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ หากสิ่งไหนในปีที่ผ่านมา พวกเราทำดีอยู่แล้ว ก็ยังคงสานต่อให้ดียิ่งขึ้น แต่หากมีสิ่งไหนที่ผิดพลาดไปบ้าง ขอให้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ขอให้ทุกหน่วยประสานการทำงานอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจ ตระหนักรู้ถึงพิษภัยจากยาเสพติดแก่ประชาชน กำชับยึดถือตามนโยบายการปฎิบัติงานด้านยาเสพติด 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันและปราบปราม, การป้องกันและแก้ไขปัญหา, การบำบัดรักษาและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษามาแล้ว ควบคู่กับการติดตามการปฎิบัติงานด้านยาเสพติดประจำสัปดาห์ ส่วนการขับเคลื่อนบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ของแต่ละจังหวัดนั้นให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยการขยายจากตำบลนำร่องแต่ละอำเภอให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกด้าน ครบทุกตำบล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ทุกอำเภอมีหนึ่งตำบล ฉะนั้นควรขยายให้ครบทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.ปส.จชต.) ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนการส่งตัวผู้ป่วยจากยาเสพติดเข้าบำบัดรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้สาธารณสุขจังหวัดชี้แจง สร้างความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อการประสานงานจังหวัดและให้การสนับสนุน รับ-ส่ง ผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาที่สูงขึ้น โดยให้ สาธารณสุขจังหวัดกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างดีที่สุดและเต็มกำลังความสามารถ ยืนยันศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมให้การสนับสนุนทุกกิจกรรมของทุกหน่วยงาน และสามารถประสานงานหรือช่วยเหลือ บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างสุดกำลังความสามารถ

 

ทั้งนี้ การประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการทำงานให้มีความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ในการบำบัดยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เนื่องจากปัจจุบันยาเสพติดได้มีการระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันให้สามารถนำไปสู่การจับกุม เพื่อสกัดกั้นคุมเข้มสิ่งผิดกฎหมาย และการลำเลียงยาเสพติดอย่างเคร่งครัด เพื่อพี่น้องประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร่วมกันสร้างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สีขาว ปราศจาก สิ่งเสพติดทุกชนิด

 

ข่าว/ ตอริก สหสันติวรกุล รายงาน

 

#ศูนย์ประชาสัมพันธ์

#กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า

Related posts