สสก.5 สงขลา รับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพิ่มรายได้

สสก.5 สงขลา รับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพิ่มรายได้

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในระยะ 3 เดือนนี้ (มีนาคม-พฤษภาคม 2564)
ปริมาณฝนรวมประเทศไทยส่วนใหญ่จะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20 ยกเว้นบริเวณภาคใต้ ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ ประมาณร้อยละ 10 โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกประมาณ 300-370 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 300 มม.) และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประมาณ 570-670 มิลลิเมตร
(ค่าปกติ 559 มม.) สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติ ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยทั้งประเทศ 33-35 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 34.8 °ซ.) ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย ของประเทศไทยจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย โดยจะมีอุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ยทั้งประเทศ 23-25 องศาเซลเซียส
(ค่าปกติ 24.5 °ซ.) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนถือว่ายังมีน้อยมาก ต้องใช้ให้เพียงพอไปจนถึง
ต้นฤดูฝน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ สำรวจและประเมินแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่า 30% วางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 และปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน โดยนำข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากระบบ one map เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสม รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนแหล่งน้ำบนดินและผิวดิน ให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ด้านการเกษตรต้องระวังภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา
ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งสำหรับภาคใต้คาดว่าจะเกิดภาวะแล้ง หรือค่อนข้างแห้งแล้ง ในพื้นที่
6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ชุมพร และจังหวัดกระบี่ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง ควรติดตามสถานการณ์น้ำและภัยแล้งอย่างใกล้ชิดและปรับตัวในการทำกิจกรรมการเกษตร โดยการเลือกปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ดูแลรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืช เช่น การคลุมโคนต้น และคลุมแปลง ตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดการคายน้ำของพืช และปลูกพืชคลุมดินรักษาความชื้น สำรองน้ำไว้ใช้ในไร่นา เช่น การขุดสระหรือบ่อบาดาล ปรับกิจกรรมการเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยใช้แนวทางตามศาสตร์พระราชา เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และควรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและเพิ่มรายได้ในช่วงหน้าแล้ง
นายสุพิท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อดีของการปลูกพืชใช้น้ำน้อย คือมีการทำกิจกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นพืชอายุสั้น สร้างรายได้และให้ผลตอบแทนเร็ว ใช้น้ำน้อยกว่าพืชหลัก สามารถตัดวงจรของศัตรูพืชหลักได้ และมีข้อควรคำนึงในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ดังนี้ ต้องเป็นพืชที่ตลาดต้องการ มีแหล่งน้ำที่สามารถใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี พืชที่เหมาะสมต่อการปลูกในหน้าแล้งควรเป็นพืชที่มีอายุสั้น ใช้เงินลงทุนต่อรุ่นต่ำและสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการปลูกพืชใช้น้ำน้อยประเภทพืชผัก นอกจากจะใช้บริโภคในครัวเรือนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ในตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแหล่งผลิต ตลอดจนตลาดพืชผักปลอดภัยที่มีความต้องการในกลุ่มผู้รักสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด เช่น การผลิตตามมาตรฐาน GAP และอินทรีย์
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะช่วยเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนะนำพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย ปลูกได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ พริก แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง มะระจีน เห็ดฟาง ถั่วเขียว มันเทศ และข้าวโพดซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ในช่วงแล้งให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ใกล้บ้านท่าน

 

Related posts