เกษตรรุกแก้ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนภาคใต้แบบครบวงจร
กรมส่งเสริมการเกษตร โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับ
สำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการ วางระบบป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนภาคใต้
แบบครบวงจร
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าทุเรียนเป็นไม้ผลที่สำคัญของภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดกว่า 571,439 ไร่ พื้นที่ให้ผล 437,993 ไร่ ผลผลิตรวม522,101 ตัน (ข้อมูล ณ ปี 2563) ปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาสูง เกษตรกรจึงนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อให้ทุเรียนออกผลในช่วงที่ต้องการ และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค แต่ก็ยังคงประสบปัญหาด้านสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรสูญเสียรายได้ และผู้บริโภคขาดความเชื่อถือ โดยเฉพาะหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่มักพบการระบาดอยู่เสมอ
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หรือ “หนอนใต้” หรือ “หนอนมาเลย์” ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวเมีย
1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 100-200 ฟอง วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผลในระยะผลอ่อน จากนั้น
ตัวหนอนที่เพิ่งฟักจากไข่จะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผล การเข้าทำลายจะสังเกตรอยเจาะของหนอนได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กมากและเปลือกทุเรียนที่กำลังขยายจะปิดรูเจาะของหนอน ทุเรียนที่ถูกทำลายส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว หนอนเจริญเติบโตอยู่ภายในผลทุเรียนกัดกินเมล็ดเป็นอาหาร ถ่ายมูลออกมาปะปนอยู่กับเนื้อทุเรียน เมื่อทุเรียนผลแก่หรือใกล้สุก หนอนจะโตเต็มที่และเจาะรูออกมา เข้าดักแด้ในดิน ได้นาน 1-9 เดือน ผีเสื้อที่ออกจากดักแด้ภายใน
1 เดือน สามารถเข้าทำลายทุเรียนรุ่นหลังในปีเดียวกันได้ หรืออาจจะออกจากดักแด้ในปีถัดไป โดยอาศัยฝนต้นปีเป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ
นายสุพิท กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าวสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงได้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการในภาคใต้ ทั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัด จัดทำแปลงเรียนรู้การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนขึ้น โดยคัดเลือกแปลงเรียนรู้ ให้ความรู้เกษตรกร และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การจัดทำแปลงเรียนรู้ ได้แก่ เครื่องห่อผลทุเรียน ถุงห่อผลทุเรียน
ชุดกับดักกาวเหนียว และกำมะถัน เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นำไปขยายผลสู่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคใต้ ในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแบบครอบคลุมพื้นที่ต่อไป และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีแนวทางป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ไว้ดังนี้
1. ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% ดับลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้
2. สำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ด โดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟ หรือกับดักกาวเหนียวสีม่วง สัปดาห์ ละ 2-3 ครั้ง หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2-3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน
3. ห่อผลทุเรียนตั้งแต่ผลทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น หรือถุงห่อผลทุเรียน เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อระบายน้ำ สามารถป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ ก่อนห่อผลควรตรวจสอบและป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ
4. ทำความสะอาดแปลง กำจัดวัชพืช เก็บผลที่ร่วงหล่นไปเผาทำลาย เพื่อกำจัดที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูพืช
5. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กาบมะพร้าวหรือกิ่งไม้กั้นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่ หรือตัวหนอนเข้าทำลายหรือหลบอาศัย
๖. ไล่ผีเสื้อตัวเต็มวัย ด้วยควันไฟ โดยการจุดกำมะถัน กาบมะพร้าวหรือพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม
7. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัย โดยพ่นทุก 7-10 วัน เมื่อผลทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์ (หลังดอกบาน) ทุกสัปดาห์ ติดต่อกัน 5 ครั้ง ดังนี้
– แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์บาริล (Carbaryl) 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– เดลทาเมทริน (Deltamethrin) 3% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– เบตา-ไซฟลูทริน (Beta-cyfluthrin) 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร