สสก.5 สงขลา เตือนเกษตรกรรับมือเพลี้ยไฟมังคุดด้วยสารชีวภัณฑ์
ในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน บริเวณภาคใต้ของไทยอยู่ในช่วงฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยไฟมังคุด ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญอย่างหนึ่ง
ของภาคใต้ และช่วงนี้มังคุดอยู่ในระยะแตกใบอ่อน ออกดอก จนถึงติดผลอ่อน หากเพลี้ยไฟลงทำลาย
จะส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตเสียหายไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาตกต่ำ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟมังคุดอย่างต่อเนื่อง
เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก บางครั้งมองดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ยาวประมาณ 0.7-0.8 มม. มีสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 11-18 วัน ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ 22 วัน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ทำให้ยอดแห้ง
หงิกงอ แคระแกร็น ผิวผลลาย (ขี้กลาก) มียางไหล หากรุนแรงอาจทำให้ผลร่วงได้ พบว่าในระยะแตกใบอ่อนเป็นระยะที่ดึงดูดเพลี้ยไฟเข้าทำลายมังคุดได้มากที่สุด ทั้งนี้หากอุณหภูมิสูงขึ้นจำนวนประชากรเพลี้ยไฟจะเพิ่มมากขึ้น แต่หากมีฝนตกหรือปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นจะทำให้จำนวนประชากรลดลง ดังนั้นเกษตรกรต้องสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ในระยะแตกใบอ่อน และระยะออกดอก-ติดผล โดยการเคาะใบหรือ
ผลอ่อนลงบนแผ่นพลาสติกที่ทาด้วยกับดักกาวเหนียว หากพบเพลี้ยไฟ 1 ตัว/ยอด ต้องรีบป้องกันกำจัด ตามคำแนะนำของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ ใช้กับดักกาวเหนียวติดตั้งในสวนมังคุดตั้งแต่มังคุดเริ่มแตกใบอ่อน (กับดักกาวเหนียวสีเหลืองขนาด 24 x 24 นิ้ว แขวนไว้บริเวณรอบทรงพุ่มของต้นมังคุดทั้ง 4 ทิศ จำนวน 4
กับดักต่อต้น) การปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำ ด้วยการฉีดพ่นน้ำภายในทรงพุ่ม เพื่อให้เกิดความชื้น ทุก 2-3 วัน หรืออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่เพลี้ยไฟตัวห้ำ ด้วงเต่าตัวห้ำ หรือการใช้ชีวภัณฑ์เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria brassiana) ควบคุม ทุก 5-7 วัน ในอัตราส่วนเชื้อราบิวเวอเรีย 1 กก.ต่อน้ำ 80 ลิตร ผสมสารจับใบฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มโดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน/ผลอ่อน
เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria brassiana) เป็นเชื้อราที่มีสปอร์สีขาว เข้าทำลายแมลงศัตรูพืชโดยสปอร์งอกเส้นใยแทงเข้าไปในลำตัวแมลง แมลงที่ถูกเชื้อราบิวเวอเรียทำลาย จะเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
ไม่เคลื่อนไหว และมีเส้นใยสีขาวเจริญเติบโตในตัวแมลง หลังจากนั้นจะเห็นสปอร์คล้ายฝุ่นสีขาวปกคลุมตัวแมลง สามารถทำลายแมลงศัตรูพืชทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด เพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ไรแดง แมลงหวี่ขาว และหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นชีวภัณฑ์ที่เกษตรกรสามารถผลิตขยายชีวภัณฑ์บิวเวอเรียได้เอง ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และลดต้นทุนการผลิต ได้อย่างดี ตลอดจนปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนใกล้บ้านท่าน