นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอรุ่นที่ 1 อำเภอศรีสัชนาลัย
วันที่ 23กันยายน 2565 เวลา 10:00 น. นายสมพงค์ ชมชัย นายอำเภอศรีสัชนาลัย นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ กรมการปกครอง รุ่นที่ 1 อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของของปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมอบหมายให้ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 11ตำบล 134 หมู่บ้าน และภาคีเครือข่ายแต่งกายชุดจิตอาสา ดำเนินการวางแผนการจัดกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว ปลอดสาร โดยนำศาสตร์พระราชามาใช้เป็นหลักการพัฒนา คือ รู้รักสามัคคี ความพอเพียง และการมีส่วนร่วม ภายใต้แผนงาน “อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบูรณาการ CAST” เนื่องในโอกาสครบ 130 ปีที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนมาอย่างยาวนานด้วยเกียรติภูมิของบรรพบุรุษมหาดไทยที่ยึดถือปณิธานแห่งการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยจิตวิญญาณความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หลอมรวมความรู้รักสามัคคีของคนในชาติที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ประเพณี วัฒนธรรม วางระบบระเบียบการปกครองในส่วนภูมิภาคให้มีเอกภาพ (Unity) จนสามารถรักษาความเป็นเอกราชอยู่รอดจนถึงยุคปัจจุบัน สร้างเกียรติศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น ศรัทธา ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจากเกียรติภูมิดังกล่าว ทำให้ชาวมหาดไทยทุกคนได้ประจักษ์แล้วว่า สิ่งสำคัญที่เป็นความท้าทายหรือโอกาสในการพิสูจน์ความศรัทธาของสังคมไทยต่อสถาบันกระทรวงมหาดไทย นั่นคือ “ความตระหนักถึงภารกิจหน้าที่” ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อพี่น้องประชาชน ต่อหมู่บ้าน/ชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศไทย ให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน โดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ ข้างที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ ทั้งนี้ได้การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน “โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย” เป็นโครงการสำคัญ (Flagship Project) ที่ขับเคลื่อนโดยกรมการปกครอง ในการเฟ้นหาอำเภอต้นแบบการบูรณาการฯ จังหวัดละ 1 อำเภอ อำเภอละ 10 คน โดยประกอบด้วย นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายหรือทีมงานในอำเภอ ทั้งภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน มาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ใช้ชีวิตร่วมกันในการศึกษาบ่มเบาะแนวทางการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดการสร้างความมั่นคงและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนตามภูมิสังคม