บึงกาฬ ผู้ปกครองพาบุตรหลานออกหาแมงกินูนและจักจั่นทำเมนูเด็ดลดรายจ่ายขายได้ด้วย

บึงกาฬ ผู้ปกครองพาบุตรหลานออกหาแมงกินูนและจักจั่นทำเมนูเด็ดลดรายจ่ายขายได้ด้วย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 18 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณหกโมงครึ่งถึงสองทุ่มหลังพระอาทิตย์สิ้นแสงตกดินชาวบ้านหนองแวง หมู่.3 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ หลายครัวเรือน หอบลูกจูงหลานขี่รถมอไซค์และมอไซค์พ่วงข้างพากันออกไปหาจับแมงกินูน และจักจั่น ที่ออกมาหากินใบอ่อนตามต้นไม้นานาชนิด ในช่วงที่สภาพอากาศที่อบอ้าวและต้นไม้ถูกน้ำฝนที่ตกลงมา จะแตกใบอ่อน ซึ่งในป่าชุมชนของหมู่บ้านจะมีแมงกินูนแดง แมงกินูนดำ ออกหากินใบมะขามอ่อน ใบติ้ว ใบส้มเสี้ยว และใบอ่อนต้นไม้อื่น ๆ ทั่วไป ส่วนจักจั่นก็จะเกาะอยู่ตามต้นไม้ยูคา หรือต้นไม้อื่นๆ หากเหลือก็จะนำไปขายตามตลาดสด ตลาดนัดต่างๆ ราคาแมงกินูนขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนจักจั่นอ่อนแพงขึ้นมาหน่อยกิโลกรัม 360 บาทหรือขีดละ 40 บาท ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านไม่น้อยที่ชอบรับประทานอาหารแปลกๆ นำไปทำเป็นเมนูเด็ดๆ ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทอดกรอบ ทำแกงใส่หน่อไม้ ใส่เห็ด หรือทำป่นก็อร่อยดี ซึ่ง 1 ปีมีแค่ครั้งเดียว วันหนึ่งๆ ชาวบ้านที่ออกไปหาจับแมงกีนูนและจักจั่นมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3-500 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ชาวบ้านบอกว่า การจับแมงจีนูน ในเวลากลางคืน จะใช้คบหรือไฟฉาย หรือโคมแบตเตอรี่ ส่องหาตัวแมงจีนูนจากนั้นใช้กระป๋อง ขวดน้ำหรือกระบอกไม้ไผ่พันกับปลายไม้ยาว ๆ ไปจ่อที่ตัวแมลง ๆ จะปล่อยตัวลงในกระป๋อง ขวด หรือกระบอกไม้ไผ่ หรือใช้วิธีเขย่าต้นไม้ กิ่งไม้ให้แมงจีนูนตกลงมา เพราะมันอิ่มมันจะไปไม่เป็น หรือใช้วิธีเอาเสื่อไปปูใต้ต้นไม้ที่แมงจีนูนเกาะอยู่ เขย่ากิ่งไม้แมงจีนูนก็จะตกลงมาเราก็เก็บเอาใส่ถังและกระป๋องน้ำที่เตรียมมาด้วย

แมงกินูนนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น คั่ว ทอด จี่ (ย่างไฟ) ทำป่น (ตำน้ำพริก) ก้อย ลาบ แกงใส่หน่อไม้หรือผักหวาน เป็นต้น เป็นอาหารที่แสดงถึงวิถีชีวิตการดำรงชีพของชาวภาคอีสาน อาหารบางประเภทจะมีผักพื้นบ้านผสมอยู่ด้วย หลายชนิดซึ่งช่วยเพิ่มสารอาหาร และมีคุณค่าทางสมุนไพร นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคและกลวิธีการแสวงหาแมลงมาเป็นอาหารของชาวอีสานล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันของครอบครัวและชุมชน ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี แก่ครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ยังสนองตอบแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการดำเนินชีวิตอยู่อย่างพอเพียงอีกด้วย.

เกรียงไกร พรมจันทร์ /// บึงกาฬ

Related posts